ประวัติโรงเรียน
|
|
ประวัติโรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสาม ปทุมธานี
ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสามปทุมธานีตั้งอยู่เลขที่37หมู่ 4 ตำบลบึงคอไห อำเภอลำลูกกา
โรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสาม ปทุมธานี เป็นโรงเรียนรัฐบาลในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 4 (ปทุมธานี สระบุรี) (สังกัดเดิมคือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 2) ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายแบบสหศึกษา ตั้งอยู่บริเวณถนนเลียบคลองสิบสาม ตำบลบึงคอไห อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และเป็นโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนเทพศิรินทร์
โรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสาม ปทุมธานี มีชื่อเดิมว่า โรงเรียนคลองสิบสามวิทยา เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนในเขตพื้นที่คลองสิบสามและชุมชนใกล้เคียง เพราะในสมัยก่อนที่จะตั้งโรงเรียน นักเรียนในพื้นที่ที่ต้องการจะศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาเดินทางไปเรียนต่อที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ซึ่งมีระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร มีเส้นทางทุรกันดาร และถนนคลองสิบสามสายกลางยังเป็นดินคันคลองชลประทาน ขณะนั้นนายรุสดี ผลเจริญ ประธานอิสลามประจำจังหวัดปทุมธานี และคณะมีความคิดที่จะให้มีโรงเรียนมัธยมศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 โดยจะใช้ที่ดินของมัสยิดอัลฮูดา (อยู่ห่างจากที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน 200 เมตร) แต่ไม่เป็นที่ยินยอม
ต่อมาได้รับที่ดินจากนายสอิดและนางลอ รื่นสุข ซึ่งมอบให้มัสยิดประชาสัมพันธ์เป็นผู้ดำเนินการจัดการมอบที่ดินจำนวน 48 ไร่ 22 ตารางวา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศาสนาประจำมัสยิดประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างโรงเรียน
วันที่ 25 มีนาคม 2519 กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นโรงเรียน โดยให้ชื่อว่าโรงเรียนคลองสิบสามวิทยา และแต่งตั้งนายวิวัฒน์ พวงมะลิต เป็นครูใหญ่คนแรก มีนักเรียนรุ่นแรกจำนวน 31 คน ซึ่งในระยะแรกได้ใช้มัสยิดอัลฮูดาเป็นสถานที่และได้ย้ายมาที่ตั้งของโรงเรียนเมื่ออาคารชั่วคราวก่อสร้างเสร็จ และได้รับการช่วยเหลือจากชุมชน โดยเฉพาะพระครูพินิจธัญโสภณ เจ้าอาวาสวัดนิเทศราษฎร์ประดิษฐ์
ช่วงปีพ.ศ. 2535 โรงเรียนได้เปิดทำการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 มีจำนวนห้องเรียนทั้งหมด 6 ห้องเรียน มีนักเรียน 181 คน ซึ่งในขณะนั้นได้มีโรงเรียนมัธยมศึกษาก่อตั้งขึ้นใหม่หลายโรงเรียนและนักเรียนที่จบระดับชั้นประถมศึกษาที่เป็นชาวมุสลิมจะเดินทางไปศึกษาต่อทางศาสนาในภาคใต้โดยไม่ศึกษาสายสามัญ จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาดังกล่าวและพัฒนาโรงเรียน โดยมี ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อธิบดีกรมสามัญศึกษาในขณะนั้น นายณรงค์ กาญจนานนท์ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ และนายถนอม ผดุงสุทธิ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนคลองสิบสามวิทยา เป็นผู้ดำเนินการ
วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2535 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจาก โรงเรียนคลองสิบสามวิทยา เป็น โรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสาม ปทุมธานี
วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสาม ปทุมธานี เข้าโครงการ“ด้วยรักและห่วงใย”ในพระอุปถัมป์ และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสาม ปทุมธานีเป็นการส่วนพระองค์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 เป็นการเสด็จเยี่ยมครั้งที่ 1
ครั้งที่ 2 วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ซึ่งในระยะก่อนการเสด็จพระราชดำเนิน โรงเรียนได้ดำเนินการปรับปรุงโรงเรียนตามกำลังและสภาพเท่าที่เป็นไปได้ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากหลายฝ่ายมาช่วยลงแรงพัฒนาโรงเรียนเพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน เช่น หน่วยบัญชาการกองทัพอากาศ คณะอาสาสมัครสุขาภิบาลธัญบุรี-ลำไทร กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เรือนจำธัญบุรี ตลอดจนศิษย์เก่าคณะกรรมการที่ปรึกษาโรงเรียน และโรงเรียนมัธยมต่าง ๆในจังหวัดปทุมธานี
ก่อนการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมในแต่ละครั้งได้ทรงพระราชทานไก่พันธุ์เนื้อ เป็ดพันธุ์ไข่และพันธุ์ผัก ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้แก่ทางโรงเรียน เพื่อจัดทำโครงการอาหารกลางวัน สำหรับนักเรียนในโรงเรียนเป็นการเริ่มต้นโครงการโดยพระราชทานมาตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2537
โรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสาม ปทุมธานี รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ได้รับทราบจากพระราชปรารภที่ทรงมีว่า “จะไปดูโรงเรียนเขาสักหน่อย ครูก็มีน้อย ต้องเข้าไปช่วย ต้องไปจัดการเองแล้ว”
ทางคณะครูและผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ นายสมพงษ์ เลี้ยงเจริญ อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนในขณะนั้นเป็นผู้ประสานนโยบายตามพระราชดำริมาแต่ต้น ได้ระดมสรรพกำลังจากฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาสภาพโรงเรียนให้มีความสะอาดเรียบร้อยงดงามเหมาะสมกับพระเกียรติยศที่ทรงพระกรุณาแก่โรงเรียนและชาวจังหวัดปทุมธานี คณะครูอาจารย์ของโรงเรียน ขอรับพระราชดำริมาใส่ไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ถวายความจงรักภักดีตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
|